รู้ทัน! “ภาษีนำเข้า” นำเข้าสินค้าอย่างไรให้ปลอดภาษี

May 15, 2022

รู้ทัน! "ภาษีนำเข้า" นำเข้าสินค้าอย่างไรให้ปลอดภาษี

ธุรกิจค้าขายตั้งแต่ของกินเรื่อยไปถึงของใช้จำเป็น และสินค้าฟุ่มเฟือย ล้วนมีให้เลือกซื้อแบบหลากหลาย อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าก็สรรหาสินค้าถูกและดี มีคุณภาพมาให้เลือกช้อปกันอย่างจุใจ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ

แต่ต้องยอมรับว่า “สินค้านำเข้า” ย่อมมีราคาสูงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เนื่องจากต้องบวกภาษีนำเข้าด้วย จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องหาวิธีการนำเข้าแบบเสียภาษีน้อยที่สุด

ตลอดจนผู้บริโภคหลายรายที่มีโอกาสไปต่างประเทศก็เลือกหิ้วเข้ามาเองเป็นของใช้ส่วนตัว หรือฝากเพื่อนฝูงที่ไปหรืออยู่ต่างประเทศแล้วกำลังจะกลับมาประเทศไทยหิ้วเข้ามาฝาก หรือส่งกลับมาให้ก็มีเสียภาษีมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่วิธีที่เลือกใช้

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าใครที่ต้องการนำเข้าสินค้า สามารถนำเข้ามาแบบปลอดภาษีได้ หรือหากต้องเสียภาษีก็ให้เสียภาษีน้อยที่สุด โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

  • หลักการเก็บภาษีนำเข้า

ภาษีนำเข้า คือ ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากผู้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทยโดยผ่านพิธีการศุลกากร ไม่ว่าจะนำเข้ามาทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศก็ตาม เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ โดยกรมศุลกากรมีหน้าที่จัดเก็บภาษีขาเข้า-ขาออกและภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น สินค้านำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยสินค้าแต่ละประเภทจะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันหรือเรียกว่าพิกัดภาษี เพื่อปกป้องการค้าภายในประเทศ ให้ราคาสินค้านำเข้าสูงกว่า ทำให้สินค้าที่เหมือนกันในประเทศยังพอดำเนินการต่อไปได้

  • องค์ปะกอบของภาษีนำเข้า

1.ภาษีนำเข้า หรืออากรขาเข้า หรือภาษีนำเข้าส่งออก กรมศุลกากรมีหน้าที่จัดเก็บ

2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการนำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ทางกรมศุลกากรจะต้องเก็บและนำส่งให้กับกรมสรรพากร โดยรัฐจะกำหนดนโยบายว่าจะเก็บภาษีนำเข้าเท่าไร และบวก VAT 7% เข้าไปด้วย

  • นำเข้าโดยหิ้วสินค้าเข้าไทย

โดยปกติสำหรับการนำเข้าสินค้าโดยอาศัยเป็นของติดตัวเมื่อเข้ามาในประเทศไทย เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศไทย หลังจากตรวจพาสปอร์ตและรับกระเป๋าเดินทางแล้ว หาก ไม่มีสินค้าต้องสำแดง ให้เข้าช่องตรวจสีเขียว (Nothing to Declare) แต่ถ้า มีสินค้าต้องสำแดง จะต้องเดินเข้าช่องตรวจสีแดง (Goods to Declare) เพื่อเสียภาษีอากร ซึ่งมีเงื่อนไขในการเสียภาษีนำเข้าคือ

– ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท ไม่ว่าจะเพื่อใช้เองหรือไม่ได้ใช้เองก็ตาม แต่ถ้าหากเป็นสิ่งของที่นำไปจากประเทศไทย จะไม่ถูกนำมาคิดมูลค่าหากมีการสำแดงไว้ก่อนเดินทางไป

– สิ่งของที่มีลักษณะทางการค้า แม้จะมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาท

– เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่า 1 ลิตร

– บุหรี่เกินกว่า 200 มวน

– ซิการ์หรือยาเส้นเกินกว่า 250 กรัม

– ของต้องจำกัด คือ ของที่ต้องมีใบอนุญาต เช่น ยาและอาหารเสริม เครื่องสำอาง สัตว์เลี้ยง อาวุธปืน พืช อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดรน

  • วิธีการคำนวณภาษีนำเข้า

สูตรการคำนวณภาษีนำเข้าสำหรับหิ้วสินค้าเข้ามาเอง สามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

1.อากรขาเข้า = ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 
3.ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่างเช่น กรณีซื้อกระเป๋าชาเนล ราคา 30,000 บาท จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย แม้จะเป็นของใช้ส่วนตัว แต่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท จึงต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีนำเข้าดังนี้

1.อาการขาเข้า (6,000) = ราคาสินค้า 30,000 x อัตราภาษีขาเข้ากระเป๋า (20%)
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (2,520) = (ราคาสินค้า 30,000 + อาการขาเข้า 6,000) x ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
3.รวมภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ คือ อากรขาเข้า 6,000 + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,520 = 8,520 บาท

  • นำเข้าโดยใช้บริการขนส่ง

สำหรับผู้ที่รักการ shop สินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่รวมอยู่ในราคาของสินค้าที่สั่งซื้อ และอาจไม่รวมอยู่ในค่าจัดส่งที่จ่ายให้กับผู้ค้าปลีกออนไลน์ เว้นแต่จะระบุไว้เป็นการเฉพาะ

ดังนั้น จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สั่งซื้อถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย ซึ่งลักษณะการนำเข้าโดยใช้บริการขนส่ง มีรูปแบบการนำเข้าอยู่ 2 รูปแบบ และมีวิธีการคำนวณภาษีนำเข้าดังนี้

1.นำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศผ่าน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

การนำเข้าผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทยค่าส่ง จำกัด ค่าส่งจะถูกลง โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจคัดแยกสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ที่ได้เปิดถุงแล้วออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.1 ของยกเว้นอากร หมายถึงของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละรายต้องมีราคาค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้เพียงเป็นตัวอย่าง และไม่มีราคาในทางการค้า และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด (ของที่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า) จึงนำส่งบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายต่อไป

1.2 ของต้องชำระอากร หมายถึงของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกัน หรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อ หากมีราคา FOB (ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายพิธีการส่งออก ส่วนผู้ซื้อเป็นผู้ทำสัญญาการขนส่งและจ่ายค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางไปยังท่าเรือปลายทาง) รวมกันไม่เกิน 40,000 บาท

และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย ให้พนักงานศุลกากรเปิดตรวจและประเมินอากรแล้วส่งมอบบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับและเรียกเก็บภาษีอากรแทนกรมศุลกากร

1.3 ของอื่นๆ นอกจากของยกเว้นอากรและของต้องชำระอากร ให้ส่งมอบแก่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อส่งมอบเข้าเก็บรักษาในโรงพักสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่สำนักงาน/ด่านศุลกากรแล้วแต่กรณี เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป

2.นำเข้าสินค้าโดยผ่านผู้ประกอบการของเร่งด่วน (DHL : Express Consignment)

การนำเข้าโดยผ่านผ่านผู้ประกอบการของเร่งด่วน หรือ DHL นั้น ทางกรมศุลกากรเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเข้ามาในหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีผู้ประกอบเร่งด่วน เช่น Fed Ex UPS DHL และ TNT โดยสิ่งของเร่งด่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ สามารถจัดแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

2.1 เอกสารที่ไม่ต้องเสียอากร ตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำจัด เนื่องจากสินค้าเป็นเอกสารซึ่งไม่ต้องเสียอากร ทำเพียงสำแดงข้อมูล รายละเอียดของสินค้าและประเภทพิกัดตามชนิดของที่มีมูลค่ารวมมากที่สุด

2.2 ของไม่ต้องเสียอากร หรือของที่ได้รับยกเว้นอากร ซึ่งมีดังนี้

– ของที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด

– ของนำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคา CIF (ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายพิธีการส่งออก รวมทั้งทำสัญญาการขนส่ง จ่ายค่าขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางไปยังท่าเรือปลายทาง) ไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นอากร และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด

– เป็นเพียงตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่าง และไม่มีราคาในทางการค้า ได้รับยกเว้นอากรและไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด

2.3 ของต้องเสียอากร เป็นของที่เข้าทางสนามบินศุลกากรโดยแต่ละใบตราสินค้าทางอากาศ (House Air Waybill) มีราคา FOB ไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ได้รับยกเส้นอากรตามภาค 4 หรือของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย

  • วิธีคำนวณภาษีนำเข้า CIF

ราคาที่ใช้คิดภาษีนำเข้า คือ CIF ซึ่งประกอบด้วย C = ราคาสินค้า I = ประกันภัย และ F = ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสูตรการคิดภาษีนำเข้าสินค้า คือ

ภาษีนำเข้า = CIF x อัตราภาษีนำเข้า (พิกัดภาษีศุลกากร)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (CIF + ภาษีนำเข้า) x 7%

กรณีที่บัญชีราคาสินค้าระบุรายละเอียดค่าประกันภัย และค่าขนส่งของครบแล้ว ให้ใช้ราคาตามบัญชีราคาสินค้านั้น แต่หากไม่มีรายละเอียดค่าประกันภัยและค่าขนส่งของ ให้บวกค่าประกันภัยอีกร้อยละ 1 ของราคา FOB และให้คิดค่าขนส่งของโดยใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตามพิกัดที่ศุลกากรอนุมัติให้ใช้สำหรับสินค้าเร่งด่วน และสำแดงข้อมูลรายละเอียดของสินค้า และประเภทพิกัด ตามชนิดของที่มีมูลค่ารวมมากที่สุดในใบตราส่งนั้น

  • เทคนิคนำเข้าให้ปลอดภาษี

ดังนั้น ในกรณีที่นำเข้าสินค้าโดยการหิ้วเข้ามาเอง ควรพยายามอย่าให้สินค้าเกินเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนดในการนำเข้า เช่น ของใช้ส่วนตัวมูลค่ารวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 20,000 บาท หรือเป็นของที่นำเข้ามาไม่อยู่ในลักษณะทางการค้า เช่น ซื้อกระเป๋าจำนวนมากแม้มูลค่ารวมจะไม่ถึง 20,000 บาท แต่ก็เข้าข่ายจะซื้อมาเพื่อการค้าขายก็ต้องเสียภาษีนำเข้า

ส่วนการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านบริการขนส่ง สินค้านำเข้าที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ต้องเป็นของซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้เพียงเป็นตัวอย่าง และไม่มีราคาในทางการค้า และไม่เป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัด เป็นของยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยหลักการสั่งซื้อของนำเข้าสามารถทำได้คือ สั่งของรวมทั้งหมดแล้วอย่าให้เกิน 1,500 บาท และพยายามสั่งของประเภทเดียวกัน เพราะอัตราภาษีที่ต้องเสียขึ้นอยู่กับพิกัดที่กฎหมายกำหนด ซึ่งพิกัดอัตราศุลกากรแตกต่างกันตามประเภทสินค้า

Source: กรุงเทพธุรกิจ