ในช่วง 3-4 ปีมานี้ “สตาร์ทอัพ” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งในประเทศไทยเอง เพราะหากพิจารณาข้อมูลจากระบบเสิร์ชเอนจิ้นของ Google จะเห็นได้ว่า “สตาร์ทอัพ” เป็นคำที่ได้รับความนิยมในการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 30-40% โดยเฉลี่ยเลยทีเดียว
หนึ่งในสาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะว่าหากดูเผิน ๆ “สตาร์ทอัพ” ดูเหมือนจะเป็นหนทางที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว สามารถก้าวเข้ามาเริ่มทำความฝันได้อย่างไม่ยาก ด้วยความเข้าใจว่า “สตาร์ทอัพ” เป็นรูปแบบธุรกิจที่อาศัยเพียงไอเดียธุรกิจที่แหวกแนว หาช่องว่างทางการตลาด มีทีมทำเทคโนโลยีมาพัฒนาแอพลิเคชั่นอีกเล็กน้อย ก็ลุยได้แล้ว ไม่เหมือนธุรกิจ SME ที่ต้องอาศัยเงินทุน จำนวนทรัพยากรบุคคลที่มากกว่า และขยายตลาดได้ยากกว่า หลายคนจึงวาดฝันถึงโอกาสเติบโตและร่ำรวยแบบก้าวกระโดดเหมือน Uber, Grab หรือแม้กระทั่ง Facebook
ทว่าจริง ๆ แล้ว “สตาร์ทอัพ” เป็นอะไรที่ Start ง่าย แต่อัตราส่วนของคนที่ Start แล้วสามารถ Up สู่ความสำเร็จแล้วมีน้อยนิด บางสำนักที่วัดสถิติกันพูดว่าเป็นจำนวน 1:1,000 เลยทีเดียวที่ประสบความสำเร็จและล้มหายตายจากไป วันนี้ทีมงาน Marketing Oops! จึงขอนัดคิวพิเศษกับ คุณชาล เจริญพันธ์ – Head of Accelerator บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด พร้อมทั้งสตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Digital Ventures Accelerator รุ่นแรก ที่มาร่วมเผยมุมมองและวิธีคิดอย่างแตกต่างที่จะทำให้สตาร์ทอัพไทยประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง เผลอ ๆ ไปไกลระดับโลก
ก่อนจะไปอ่านบทสัมภาษณ์ของกูรูและสตาร์ทอัพไฟแรง เรามาทำความรู้จักกับ Digital Ventures Accelerator (DVA) กันซักนิด ซึ่งผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะรู้จักบ้างอยู่แล้ว เพราะเป็นโปรแกรม Accelerator ที่มาแรงที่สุดของประเทศในเวลานี้ ดำเนินงานโดย ดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทที่พัฒนานวัตกรรมทด้านฟินเทค (FinTech) ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์นั่นเอง ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเข้มข้น และเป็นครึ่งทางของโครงการ DVA ที่ กำลังบ่มเพาะสตาร์ทอัพกัน
“การผลักดันสตาร์ทอัพไทยคือฟันเฟืองเศรษฐกิจไทย”
นั่นคือคำเปิดบทสนทนากับ คุณชาล เจริญพันธ์ – Head of Accelerator บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดัน DVA ซึ่งเดิมทีก็มีชื่อเสียงอย่างมากอยู่แล้วในหมู่สตาร์ทอัพจากการที่คุณชาลเป็นเจ้าของและผู้บุกเบิก Hubba Co-Working Space ของสตาร์ทอัพแห่งแรกในไทย
คุณชาล กล่าวว่า “ความตั้งใจของดิจิทัล เวนเจอร์ส คือ นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการลงทุนในบริษัท Startup ทั้งในและต่างประเทศแล้ว อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญคือ การสร้างระบบนิเวศที่ดีที่สุดให้สตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตได้รวดเร็วและยั่งยืน เพราะนับจริง ๆ แล้วสตาร์ทอัพไทยก็เพิ่งเริ่มมาบูมในช่วงไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา แต่หากเราไม่รีบทำให้สตาร์ทอัพไทยเกิด ก็จะมีสตาร์ทอัพต่างชาติ อาทิ Uber Lazada Alibaba ฯลฯ เข้ามาทำธุรกิจในตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ เงินไหลออกนอกประเทศเรื่อยๆ และสตาร์ทอัพเป็นอะไรที่ถ้าอยากจะเกิดก็ต้องทำให้เกิดอย่างรวดเร็ว”
“เราได้ พัฒนาหลักสูตรขึ้นโดยคำนึงถึงการเตรียมปัจจัยที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จใน 3 ด้านด้วยกันคือ ความรู้ เงินทุน และโอกาสการขยายตลาดขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์เองและพาร์ทเนอร์ระดับโลกจากหลายวงการ เช่น PrimeStreet Advisory, Baker & McKenzie, Google ในรูปแบบของการให้ความรู้ที่เป็นพื้นฐานการทำธุรกิจ เรื่องการเงิน หรือกฎหมายธุรกิจ และในรูปแบบของเมนทอร์ที่จะคอยให้คำปรึกษาแบบทีมต่อทีมกับสตาร์ทอัพ”
“สตาร์ทอัพที่เราคัดเลือกมา 10 ทีมจากร้อยกว่าทีม หนึ่งในเกณฑ์ของการคัดเลือกคือธุรกิจของเค้าต้อง scale ได้ไม่ใช่แค่ในประเทศ ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับการให้สตาร์ทอัพได้ไปเจอนักลงทุน ไป networking กับ Startup Ecosystem ในต่างประเทศ อย่างล่าสุด เราได้สนับสนุนงาน Next Money FinTech Finals 2017 ที่จัดขึ้นที่ฮ่องกง เป็นงานเฉพาะกลุ่มของธุรกิจ FinTech โดยเฉพาะ คือเค้าจะได้เห็นการแข่งขันในต่างประเทศจริง และที่สำคัญคือการสร้างคอนเนคชั่น”
“ส่วนภายในประเทศ เราได้ช่วยสร้างเครือข่ายให้สตาร์ทอัพกับหลายๆ อุตสาหกรรม เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจก่อสร้าง อสังหาฯ รวมทั้งต่อยอดธุรกิจกับทางธนาคารไทยพาณิชย์เองเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับลูกค้าธนาคารในอนาคตต่อไป”
“เรามองไกลโดยหวังว่าหลังจาก ที่ทุกคนจบจากโครงการเราไปแล้ว ธุรกิจทุกทีมควรจะเติบโตอย่างน้อย 2-3 เท่า เรามองเห็นศักยภาพของทั้ง 10 ทีมของเราว่า สามารถที่จะ Transform ตัวเองได้ บางทีมอาจจะถึงขั้น turnaround จากขาดทุนเป็นกำไรได้ นอกจากนี้เราคาดหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่าง Digital Ventures และสตาร์ทอัพที่เข้ามาร่วมโครงการเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว เป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ได้สิ้นสุดแค่ demo day เท่านั้น แต่จะมองไกลไปถึงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) หรือการก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FinTech ไม่ได้สร้างกันง่าย ๆ 3 เดือน 6 เดือน บางทีวงจรการพัฒนาสตาร์ทอัพต้องรอถึง 2 ปี เพราะแม้จะทำผลิตภัณฑ์พร้อมออกตลาดแล้วแต่ก็ยังต้องรอการออกกฏหมาย พระราชบัญญัติ หรือข้อกำหนดรับรองต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะอนุญาตก่อน”
“ถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุนในสตาร์ทอัพของเรา เราพร้อมจะลงทุนกับทุกทีม จะมากหรือน้อย ไปลุ้นกันในงาน Demo Day ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละทีมด้วยนะว่าเค้าอยากให้เราลงทุนหรือป่าว แต่ก่อนหน้านี้ ทุกทีมได้รับเงินลงทุนแบบให้เปล่าไปกันตั้งแต่ต้นทีมละ 300,000 บาทอยู่แล้ว เพราะในระหว่างที่เรียนก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเองไปด้วย เค้าต้องอยู่ได้ด้วย”
10 แนวคิดที่แตกต่างของ 10 ทีม สตาร์ทอัพ แห่ง DVA
Seekster – ศูนย์รวมผู้ให้บริการออนไลน์
“แพลตฟอร์มของเราคล้ายๆ กับ Uber และ Grab แต่เป็นการให้บริการเรื่องช่าง โดยเราโฟกัสที่ B2B ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เน้นช่วยดูแลลูกค้าของเค้า อาจจะพูดได้ว่า end-to-end solution ที่มาพร้อมกับคุณภาพ ตอนนี้เรามีผู้ให้บริการอยู่ประมาณ 1,300 คนที่อยู่ในระบบเรา โดยเฉพาะช่างแอร์กับแม่บ้าน ตอนนี้เราให้บริการผ่านเว็บไซต์ และกำลังจะเปิดให้บริการทางแอพเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ต้องขอบคุณ Digital Ventures ด้วยที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปคุยกับพาร์ทเนอร์อย่าง SCB และ Ananda ทำให้เรามีโอกาสต่อยอดธุรกิจด้วยองค์ความรู้ และได้เครือข่ายคุณภาพ”
Refinn – ผู้ให้บริการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย รีไฟแนนซ์ออนไลน์
“เราเป็นเว็บไซต์ที่รวมเอาโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ของทุกธนาคารมาให้ลูกค้าเปรียบเทียบเพื่อการรีไฟแนนซ์บ้าน เพราะปกติเรื่องรีไฟแนนซ์ คนจะวิ่งไปคุยไม่เกิน 5 ธนาคารแล้วเอามาคำนวณ แล้วบางทีธนาคารไม่ได้มีโปรเดียว 10 ธนาคารอาจจะมีรวมแล้วเป็น 100 โปร ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้าเลือกโปรให้ถูกอาจจะช่วยประหยัดไปได้ถึง 1 ล้านบาท หรือยอด 10 ล้านอาจจะเหลือแค่ 4 ล้าน เราอยากช่วยแก้ปัญหา และช่วยสร้างผลกระทบในเชิงบวกกับสังคม”
FLOW ACCOUNT – แอพฯบัญชีออนไลน์ยอดนิยม
“เราได้ insight มาจากสิ่งที่เราเจอว่าทุกคนไม่อยากทำบัญชี ทำบัญชีไม่เป็น เอกสารเยอะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนทั่วไปและเป็นผลให้หลายคนไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ระบบของเราคือมีจุดเด่นคือเก็บดาต้าเบสออนไลน์หมด เหมือนใช้ Facebook อยู่ที่ไหนก็ทำเอกสารเกี่ยวกับบัญชีได้ และค่าใช้บริการเพียง 999 บาท/ปี ซึ่งสำคัญมากสำหรับบริษัทเล็กที่ทำงานเอง มีลูกน้อง 2-3 คน ตรงนี้เป็น Area of Focus ของเรา เราต้องรู้ตรงนี้ให้ชัด อย่าไปหวังจับทุกตลาด”
Convolab – ระบบ AI ที่จะลดข้อจำกัดของการแชทจากขีดความสามารถของมนุษย์
“เราใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาสร้างแอพพลิเคชั่นพัฒนาเป็นแชทบอตที่สมบูรณ์ ใช้ได้ในทุกแพลทฟอร์มของ Social Media เป็นแชทบอตที่สามารถออกแบบให้เฉพาะเจาะจงกับ ธุรกิจต่าง ๆ ได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ ..จากที่มาเข้ามาร่วม DVA ก็ชอบมากที่มี mentor ที่มีประสบการณ์ตรงกับธุรกิจเรา เพราะเป็นสตาร์ทอัพเหมือนยืนขาเดียวอยู่แล้ว แต่อันนี้มันเหมือนมีราวให้เกาะ เหมือนเวลาฝึก Ice Skate มีคนให้เกาะไม่ล้ม หรือถ้าล้มก็ไม่เจ็บ”
Etran – มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
“Startup ของผมค่อนข้างแหวกแนวไม่ใช่แอพลิเคชั่นแต่เป็น Hardware โดยโปรเจคนี้เกิดขึ้นเพราะเรานั่งมอเตอร์ไซด์ไปขึ้นรถไฟฟ้าแล้วเหม็นควันเลยรู้สึกว่าเราอยู่เมืองใหญ่แบบนี้ได้ยังไง แล้วเรื่อง climate change ก็ใกล้ตัวมาก ก็เลยเห็นช่องว่างในตลาดด้วยว่า ไม่มีนวัตกรรมใดที่จะมาเปลี่ยนการขนส่งสาธารณะเลย เราเลยเริ่มด้วยมอเตอร์ไซค์ก่อนซึ่งตอนนี้มอเตอร์ไซต์สาธารณะมีอยู่ประมาณ 300,000 คัน เราก็คิดต่อว่าทำอย่างไรให้เค้าเปลี่ยนมาใช้เรา ถึงพี่วินไม่แคร์เรื่องเหม็นควัน งั้นเราต้องทำของเราให้ถูกด้วยการให้พี่วินเช่าในราคาที่ต่ำกว่าค่าน้ำมันเฉลี่ยต่อเดือน เราตั้งเป้าไกล มองอะไรที่เป็นเจ้าแรกของโลกที่ทำ transportation for the better world”
OneStockHome – เปลี่ยนความวุ่นวายเรื่องวัสดุก่อสร้างให้เป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว
“ที่บ้านทำร้านขายวัสดุก่อสร้าง แล้วเราอยากต่อยอดก็เลยลองขยายมาทำออนไลน์ กุญแจแห่งความสำเร็จของเราคือการวิเคราะห์ pain point ที่ลูกค้า offline เจอแล้วนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาแก้ให้ได้ พยายามหา solution บนออนไลน์ที่จะช่วยลดเวลาของลูกค้า ช่วยดีลกับซัพพลายเออร์ให้ มีการจัดส่งที่ตรงเวลา ไม่มีสต๊อก ตอนนี้กลุ่มลูกค้าหลักคือ professional home builder และเราสามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศแล้ว รวมทั้งพม่า ลาว กัมพูชา โดยมีแบรนด์ใหญ่ ๆ เข้ามาร่วมกว่า 20 แบรนด์แล้วทั้งโรงงานเหล็กใหญ่ ๆ รวมถึง SCG ซึ่งต้องขอบคุณ DVA ที่ช่วยให้เรามีเครือข่ายที่ดีแบบนี้”
PeerPower – แพลตฟอร์มสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคลแบบออนไลน์
“PeerPower เกิดขึ้นจากการมองเห็นส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก เราจึงคิดค้นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อนักลงทุนที่มีศักยภาพและต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเข้ามาแมทช์กับผู้ขอสินเชื่อที่มีประวัติสินเชื่อที่ดี ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุน บนความเสี่ยงที่ต่ำลง ส่วนผู้ขอสินเชื่อก็ได้รับเงินสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจและลดความยุ่งยากในการขอสินเชื่อไปด้วย บริการของเราทำได้ผ่านเว็บ ซึ่งในอนาคตจะมีแอพด้วย ระหว่างที่รอกฏหมายและพรบ.อนุญาตให้เราเปิดให้บริการ การได้ร่วม DVA ก็ทำให้เราได้แนวคิดเรื่องการทำตลาดซึ่งสำคัญไม่แพ้การมีโมเดลธุรกิจที่จูงใจ”
PetInsure – บริการประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์แห่งแรกในไทย
“PetInsure เกิดขึ้นมาจากการที่เรามองเห็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาสัตว์เลี้ยงที่สูงมากในปัจจุบัน ประกอบกับจำนวนของผู้เลี้ยงสัตว์ในไทยมีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทีม PetInsure คิดค้นแพลทฟอร์มที่จะช่วยลดปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาสัตว์เลี้ยง แล้วก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องด้วย แพลทฟอร์มที่เราคิดขึ้นมาสามารถทำได้บนออนไลน์ทั้งหมดทั้งการทำประกันและการเคลม ในเมืองไทยอาจจะยังใหม่ แต่ในต่างประเทศถือว่าแอคทีฟมาก ตลาดบ้านเราจึงยังต้องการการ educate อีกมาก และเรามองว่ามันยังเติบโตได้ในระยะยาวแน่นอน”
PLIZZ – ระบบบัญชีออนไลน์ที่จะช่วยยกระดับ SMEs ไทย
“หลายคนอาจไม่รู้ว่า SMEs ในไทยมีอยู่มากกว่า 60,000 ราย และเราเล็งเห็นโอกาสที่จะทำสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาอุดช่องว่างในการทำบัญชีให้กับกลุ่มนี้แบบครบวงจร สำหรับเรา เรามองเป้าหมายไว้ว่าเป็นการวาง business model ตั้งแต่เริ่มที่เอื้อให้เราโตขึ้นได้ตลอด หลักการง่ายๆของ PLIZZ คือ เป็นระบบบัญชีออนไลน์ที่จะช่วยทำธุรกรรมบัญชีของบริษัท อาทิ คำนวณรายรับรายจ่าย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน การจ่ายภาษี ฯลฯ เจ้าของธุรกิจยังสามารถเข้าไปดูข้อมูลบัญชีต่างๆ ของตัวเองที่เราอัพเดทให้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้จัดสรรทางการเงินได้ง่ายและเร็วขึ้น”
KYC-CHAIN – เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะมาช่วยยกระดับธุรกรรมการเงิน
“หลายคนอาจเคยได้ยินเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กระจายข้อมูลเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ไม่มีศูนย์กลาง และจะมาเปลี่ยนแปลงธุรกรรมการเงินในอนาคต KYC-CHAIN หยิบยกเอาเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาเป็น Digital Identity ที่จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลูกค้าของธนาคารจะได้ความรวดเร็วในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งมากขึ้น การได้ร่วมโครงการ DVA ทำให้ทีมได้มีโอกาสพบกับผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ Regulator หรือผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนวัตกรรมที่เราคิดค้นขึ้น ทำให้รู้ถึงข้อบังคับและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เราให้ดีขึ้นได้”
อย่าเพิ่งกลัว สตาร์ทอัพสัญชาติไทยพร้อมกว่าที่คิด
“จริง ๆ แล้วสตาร์ทอัพไทยมีความสามารถในการเติมเต็มช่องว่างของเทคโนโลยีในโลกอนาคตได้หลายอย่าง ด้วยความโดดเด่นของคนไทยที่ถึงแม้อาจจะต้องยอมรับว่าเรื่องเทคโนโลยียังตามต่างชาติอยู่ แต่เราเก่งมากในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย หรือเรื่องของดีไซน์ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งออกแบบกลยุทธ์ด้านมาร์เกตติ้งต่าง ๆ และที่สำคัญคือมีสตาร์ทอัพไทยมีแนวคิดแบบผู้ประกอบการ แบบ Cockroach Mindset หรือการคิดแบบแมลงสาบ คือฆ่าไม่ตาย อึด และอดทนกว่าสตาร์ทอัพต่างชาติ ผมคิดว่าจุดแข็งของเราในส่วนนี้หากได้รับการผลักดันและส่งเสริมให้ถูกทาง ก็จะมีโอกาสมากที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยไปต่อได้ (เติบโตได้จริงๆ) อีกทั้งตอนนี้ยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากมาย ดังนั้นแค่โชว์ศักยภาพของคุณมา โอกาสการหาทุนก็ไม่ได้ยากจนเกินไป” คุณชาล ทิ้งท้าย
สำหรับใครที่คิดจะทำสตาร์ทอัพในปีนี้ ถึงเวลาที่คุณต้องหาทีมมาวางแผนและลงมือทำได้แล้ว ที่สำคัญต้องให้กำลังใจตัวเองอยู่ตลอดการสตาร์ทอัพ ทำให้ตัวเราและคนในทีมเชื่อว่าไอเดียสร้างสรรค์ของเราว่าทำได้จริงและมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ ส่วนสตาร์ทอัพหรือใครที่สนใจอยากติดตามความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ติดตามกันต่อได้ที่ www.facebook.com/DigitalVenturesTH
แหล่งที่มา : https://www.marketingoops.com/news/tech-update/startups/start-up-digital-ventures-accelerator/